วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550

รู้จักกระเทียม(ต่อ)

กระเทียมถูกนำมาใช้เป็นยาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณเรื่อยมา เข้ามาในยุโรป อินเดีย และเอเชียและเผยแพร่เข้าไปในอเมริกา ปัจจุบันมีการวิจัยพยายามศึกษาหาสารในกระเทียมว่า มีสารอะไรบ้าง ที่มีประโยชน์ในการรักษาโรค โรคที่ใช้รักษาได้คือ โรคหัวใจ, มะเร็ง, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ใช้ต่อต้านอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำลายเซลล์ดีๆ ของร่างกาย ฯลฯ
กระเทียมประกอบด้วยสารมากมายหลายชนิด แต่ละชนิด จะออกฤทธิ์แตกต่างกันไป วิธีการเตรียมหรือผลิตกระเทียม ให้เป็นยาด้วย ความร้อน, การละลายด้วยน้ำหรือน้ำมัน จะได้สารออกมาแตกต่างกัน รักษาโรคไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากกระเทียมควรทำอย่างไร ?
สารที่ให้ประโยชน์ในการรักษาจะได้จากการสกัดกระเทียมด้วยน้ำ ซึ่งได้หลายชนิด ชนิดที่ให้ประโยชน์และนำมาทดลองกันมากคือ แอลไลซิน (ALLICIN) ซึ่งไม่ค่อยคงตัว จะสลายตัวได้ง่าย ภายใน 6 วินาที เราไม่สามารถวัดสารแอลไลซินได้ในเลือด เมื่อบริโภคกระเทียมเข้าไปหรือไม่ สามารถวัดปริมาณของแอลไลซิน ในผลิตภัณฑ์ของกระเทียมแต่เราจะวัดสารชื่อ แอลไลอิน (ALLIIN) และแอลไลอิเนส (ALLINASE) แทน เพราะทั้งสองสารนี้ เมื่อผสมกันแล้วจะเกิดสาร "แอลไลซิน" ซึ่งให้ฤทธิ์ในการรักษา ภายในชั่วเสี้ยววินาทีเมื่อถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร พูดง่ายๆ ก็คือ เราวัดคุณภาพของผลิตภัณฑ์กระเทียมจากปริมาณสารสองตัวนี้
ประโยชน์ของกระเทียม
ป้องกันโรคหัวใจ ลดการอุดตันของเส้นเลือด, ลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือดได้ 58%, ลดคอเลสเตอรอล, ลดไตรกลีเซอไรด์, ลดความดันโลหิต, เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
ป้องกันโรคมะเร็ง สารประกอบในกระเทียมจะยับยั้ง การเกิดสารก่อมะเร็งที่ชื่อไนโตรซามีนในร่างกาย ซึ่งช่วยป้องกัน การเป็นมะเร็งได้, สารอีกตัวหนึ่งในกระเทียมชื่อ S-ALLYLMERCAPTO CYSTEINE ช่วยลดอุบัติการการเกิดมะเร็ง ในต่อมลูกหมากถึง 50% และได้ตีพิมพ์ในวารสาร AMERICAN JOURNAL OF CLINICAL NUTRITION ปี 1997
เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์ของกระเทียม ที่ผลิตโดยเทคนิคใหม่ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า "aged garlic" จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้เพิ่มขึ้น เช่น macrophaqes, T-lymphocyte activity และ antibody production นอกจากนี้แล้วยังพบว่ากระเทียมมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค, เชื้อไวรัส และเชื้อรา อีกด้วย
อื่นๆ กระเทียมมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคติดต่อเชื้อทางเดินหายใจ, การเกิดพิษจากโลหะหนัก, หูอักเสบ, น้ำตาลในเลือดสูง, การปรับสภาพ ต่อความเครียด, การได้รับแอลกอฮอล์มากเกินไป, ท้องร่วง นอกจากนี้กระเทียมยังสามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างแรง (major antioxidant) ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อโรคของหลอดเลือด (arterial disease) และโรคเสื่อมต่างๆ (degenerative tissue condition)
Aged Garlic
เป็นผลิตภัณฑ์ของกระเทียมชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีผลิตโดยไม่ใช้ความร้อน แต่ใช้เวลาในการสกัดสารสำคัญออกมา เทคนิคนี้คิดค้นได้ ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เป็นการเปิดบทบาทใหม่ ของกระเทียมในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) และ bioactivator ขบวนการการผลิตจะลดกลิ่นของกระเทียม ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เทคนิคใหม่นี้ จะช่วยให้เรา ค้นพบประโยชน์ใหม่ๆ อีกมากมายของกระเทียม
จะรับประทานกระเทียมอย่างไรดีให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
การปรุงอาหารด้วยกระเทียมก็ยังคงเหลือสารกลุ่มซัลเฟอร์ ซึ่งยังคงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง, การรับประทานกระเทียมสดๆ จะดีที่สุด แต่จะระคายกระเพาะอาหาร ให้รับประทาน พร้อมอาหารโดยเฉพาะอาหารโปรตีน
คนที่ไม่ชอบกลิ่นกระเทียมหรือไม่ได้รับประทานกระเทียมทุกวัน การรับประทานแคปซูล กระเทียมเป็นอาหารเสริมก็ให้ประโยชน์เช่นกัน ให้เลือกบริษัทผู้ผลิตกระเทียมที่เชื่อถือได้และควรมีฉลากระบุสารต่างๆ ในนั้นด้วย ให้ถามว่ามีการนำกระเทียมที่ผลิตได้นั้นไปทำการทดลอง ด้วยหรือเปล่าและมีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารอะไรบ้าง
ยาเม็ดกระเทียมไม่ใช่กระเทียมสดแต่มีส่วนประกอบ ใกล้เคียงกับกระเทียมสด
ปริมาณการบริโภคต่อวันขึ้นกับรูปแบบของการผลิต การใช้รักษาโรคควรเท่ากับหัวกระเทียมสด 4 กรัม, หรือ 600-1200 มก. ของ aged garlic, 2-5 มก. ของน้ำมันกระเทียม (garlic oil)
อาหารเสริมจากกระเทียมควรผลิตโดยวิธีที่ไม่ทำลาย สารธรรมชาติของมันจะได้ประโยชน์เทียบเท่ากระเทียมสด เทคนิคการผลิตวิธีใหม่ที่เรียก aged garlic จะช่วยลดกลิ่น และสารอื่นๆ ที่ไม่ต้องการออกไป ขณะเดียวกันก็ทำให้คุณภาพคงทน หรือไม่สูญสลายไปหมด
มีแพทย์คนหนึ่งซึ่งสนใจการรักษาโดยพืชสมุนไพรชื่อ JAMES DUKE, Ph.D. ได้วิจัยพบว่า กระเทียมมีสารประกอบ รวมกันถึง 202 ชนิด เขาบอกว่า "เราไม่ต้องไปหาสรรพคุณอื่นใด มาเพิ่มเติมอีก (ในการรักษาด้วยสมุนไพร) นอกจากพยายามคงสภาพ ของมันไว้ให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง"
กระเทียมมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย จึงมีผู้ผลิตกระเทียม ออกวางจำหน่ายในรูปยาเม็ดหลายๆ บริษัทด้วยกรรมวิธี การผลิตแตกต่างกันออกไป ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การสกัดกระเทียมด้วยวิธีความร้อน, เย็น ก็จะได้สารออกมาไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่การสกัดกระเทียมด้วยน้ำหรือน้ำมัน ก็จะได้ตัวยา ออกมาแตกต่างกัน ดังนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์จากกระเทียม ควรต้องเลือกดูให้ดีๆ มิฉะนั้น จะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ควรเลือกบริษัทผู้ผลิตที่มีการนำยาที่ผลิตไปทดลองมาก่อน และได้ผลการทดลองออกมาเชื่อถือได้เท่านั้น
ขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

คุณค่าผักพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพของคนไทย

ผู้ที่ไม่มีโอกาสชมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ซึ่งจบไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาไม่ต้องเสียใจ เนื่องจากความรู้ต่างๆ ที่นักวิชาการ หมอยาพื้นบ้าน และประสบการณ์ของชาวบ้านมากมาย ทางมูลนิธิสุขภาพไทยจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังให้ผู้ที่สนใจสมุนไพรได้มีโอกาสรับรู้ เพราะความรู้ดีๆ ไม่มีล้าสมัย
กิจกรรมในงานที่คนสนใจมากอย่างหนึ่ง คือ สวนสมุนไพร ซึ่งได้รับการออกแบบและจัดสวนให้ความรู้แก่ประชาชนโดยภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์อาวุโส
และอาจารย์รุ่นหนุ่มหลายท่านสละเวลามายืนให้ความรู้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย นอกจากนี้คณาจารย์ยังได้เตรียมข้อมูลความรู้ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเหมาะมือ ชื่อ คุณค่าผักพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพของคนไทย ประกอบด้วยตัวอย่างผักพื้นบ้าน และอธิบายประโยชน์ตามสรรพคุณยาไทย สารอาหารของพืชผักชนิดนั้น และนำเสนอข้อมูลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์
ความรู้ที่นักวิชาการจัดทำไว้ในหนังสือเพื่อประกอบการชมสวนสมุนไพรนี้ มีสิ่งที่น่าชมเชยอยู่ตรงที่ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เคารพในภูมิปัญญาดั้งเดิม และเชื่อมโยงอธิบายประโยชน์ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยกับงานวิจัยสมัยใหม่เข้าด้วยกัน หากคนไทยศึกษาและทำความเข้าใจความรู้ทั้ง ๒ แนวนี้ จะช่วยให้เราเลือกรับและปรับใช้สมุนไพรได้อย่างดียิ่ง
ผู้ที่ร่ำเรียนมาทางการแพทย์แผนไทยย่อมรู้จักรสยา ๙ รส เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับพืชผักพื้นบ้าน และส่งเสริมให้กินกันเป็นประจำน่าจะก่อประโยชน์ต่อสุขภาพมาก เช่น รสฝาด สรรพคุณยาไทยใช้แก้โรคท้องร่วง สมานแผล คุมธาตุ แสลงโรคหรืออาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบ คือ ไอ ท้องผูก โรคลม ทำให้กระหายน้ำ ตัวอย่างผักพื้นบ้านที่มีรสฝาด เช่น หัวปลี ยอดจิก ผักเม็ก ยอดกระโดน กล้วยดิบ และเมื่อพิจารณาจากความรู้สมัยใหม่พบว่า สารประกอบที่ทำให้เกิดรสฝาด เป็นสารจำพวกแทนนิน(tannin) ซึ่งช่วยกำจัดเชื้อโรคได้ จึงแก้อาการท้องเสียได้ ซึ่งตรงกับภูมิปัญยาดั้งเดิม
รสเปรี้ยว ตามสรรพคุณยาไทย แก้โรคเสมหะเหนียว ฟอกเลือดสตรี แก้ไอ กัดเสมหะ แก้กระหายน้ำ รสเปรี้ยวไม่เหมาะหรือแสลงโรคกับ อาการไข้ และท้องเสีย ถ้ารู้จักเลือกกินผักพื้นบ้านที่มีรสเปรี้ยวในยามที่มีอาการไอ และมีเสมหะ หรือในช่วงคอแห้งกระหายน้ำก็เท่ากับนำอาหารมาเป็นยา ตัวอย่างผักรสเปรี้ยว เช่น ผักเสี้ยน ผักหนาม ชะมวง แต้ว ส้มกบ ส้มป่อย กระเจี๊ยบแดง มะดัน มะเฟือง มะขาม มะกอก มะนาว มะกรูด มะอึก ฯลฯ สำหรับสารสำคัญในพืชผักกลุ่มนี้ ได้แก่กลุ่มกรดอินทรีย์ต่างๆ เช่น วิตามินซี กรดผลไม้ หรือกรดซิตริก(citric )
รสเผ็ดร้อน ตามสรรพคุณยาไทย แก้โรคลม บำรุงธาตุไฟ แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่น ขับลม ขับเหงื่อ รสร้อนๆ นี้ ทางการแพทย์แผนไทยไม่ให้ผู้ป่วยไข้พิษ และมีอาการตาเจ็บรับประทาน เพราะแสลงโรค ตัวอย่างผักรสเผ็ดร้อนคนไทยรู้จักดี เพราะอาหารไทยจำนวนมากมีรสเผ็ดร้อน เช่น พริก พริกไทย ดีปลี กะเพราะ โหระพา แมงลัก กระเทียม ขมิ้น ขิง ข่า กระชาย ชะพลู พลูคาว ผักแพว ผักแขยง ผักคราด และสะระแหน่ เป็นต้น พืชผักรสเผ็ดร้อนมีการศึกษาวิจัยใหม่ๆ มากมาย และเป็นกลุ่มสมุนไพรที่มีศักยภาพสูง เช่น พริก ขมิ้น กระเทียม ในการศึกษาสารสำคัญ พืชผักรสเผ็ดร้อนมักจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่หลายชนิด มีฤทธิ์ช่วยขับลม และยับยั้งเชื้อโรคต่างๆ ได้
รสยาที่เหลือ คือ รสหวาน รสขม รสเค็ม รสมัน รสเมาเบื่อ รสหอมเย็น ต่างก็มีพืชผักพื้นบ้านที่ให้รสได้ครบทุกรส เช่น รสหวาน ผักหวานป่าผักหวานบ้าน ผักเหมียง ดอกแค แตง บวบ รสขม สะเดา ฝักเพกา กุ่ม มะระขี้นก ดอกขี้เหล็ก ใบยอ ผักโขม รสเค็ม ใบกระชาย ใบหอมแดง และเกลือปรุงรสอาหาร รสมัน ลูกเนียง สะตอ บัวบก ขจร ถั่วพู ฟักทอง ผักกระเฉด กระถิน รากบัวหลวง รสเมาเบื่อ ชุมเห็ดเทศ รสหอมเย็น เกษรดอกไม้ต่างๆ
อาจารย์ทางเภสัชศาสตร์ได้สรุปศักยภาพของผักพื้นบ้านที่ผสมผสานหลักทฤษฎีแผนไทยและสารสำคัญต่างๆ ไว้ว่า หากคนไทยเลือกกินอาหารไทยที่ปรุงหรือมีผักพื้นบ้านเป็นประจำ โดยหมุนเวียนเลือกกินอาหารที่มีรสอย่างหลากหลายเลียนแบบรสยา น่าจะช่วยให้ร่างกายมีความสมดุล ช่วยให้แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ถ้ามองในแง่สารต่างๆ ที่อยู่ในพืชผัก พบว่าสารสำคัญตามธรรมชาติมีอยูมากมาย เช่น flavonoids, limonoids carotenoids, phenolic acids และสารอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีรายงานการวิจัยว่ามีส่วนช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
สารอาหารที่อยู่ในผักพื้นบ้านนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย เช่น วิตามินต่างๆ และเกลือแร่หลายชนิด เช่น แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส เหล็ก และที่สำคัญคือ ผักเหล่านี้มีใยอาหาร ทั้งชนิดละลายน้ำและชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งใยอาหารทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยลดไขมันในเลือด และช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก เป็นการลดสารพิษในร่างกายด้วย
หนังสือคุณค่าผักพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพของคนไทย ของคณะเภสัชฯ มหาวิทยาลัยมหิดลเล่มนี้ ยังได้แนะนำผักพื้นบ้านไว้ ๖๑ ชนิด ขอแนะนำ ผักเชียงดา เป็นผักที่คนทางเหนือนิยมกินกันมาก นำมากินสดๆ หรือทำแกงกับปลาแห้ง หรือใช้เป็นส่วนประกอบในแกงแค ยาโบราณผสมใบผักเชียงดาในตำรายาแก้ไข้ ยอดอ่อนของผักเชียงดา มีเบต้าแคโรทีนสูง ๑๕,๙๐๕ ไมโครกรัมต่อ ๑๐๐ กรัม และมีปริมาณวิตามินอีสูง
ปัจจุบันบริษัทของญี่ปุ่นสามารถสกัดสารสำคัญจากผักเชียงดาได้ ซึ่งมีการวิจัยพบว่าสารสกัดหยาบของผักเชียงดา ลดการดูดซึมของกลูโคสในทางเดินอาหารที่ตัดแยกจากสัตว์ทดลอง และสามารถลดน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ขณะนี้ได้วิจัยจนกระทั่งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และนำไปจดสิทธิบัตรแล้วด้วย
ในรูปเชียงดาแห้งแบบชาชง

คุณค่าผักพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพของคนไทย

ผู้ที่ไม่มีโอกาสชมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ซึ่งจบไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาไม่ต้องเสียใจ เนื่องจากความรู้ต่างๆ ที่นักวิชาการ หมอยาพื้นบ้าน และประสบการณ์ของชาวบ้านมากมาย ทางมูลนิธิสุขภาพไทยจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังให้ผู้ที่สนใจสมุนไพรได้มีโอกาสรับรู้ เพราะความรู้ดีๆ ไม่มีล้าสมัย
กิจกรรมในงานที่คนสนใจมากอย่างหนึ่ง คือ สวนสมุนไพร ซึ่งได้รับการออกแบบและจัดสวนให้ความรู้แก่ประชาชนโดยภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์อาวุโส
และอาจารย์รุ่นหนุ่มหลายท่านสละเวลามายืนให้ความรู้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย นอกจากนี้คณาจารย์ยังได้เตรียมข้อมูลความรู้ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเหมาะมือ ชื่อ คุณค่าผักพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพของคนไทย ประกอบด้วยตัวอย่างผักพื้นบ้าน และอธิบายประโยชน์ตามสรรพคุณยาไทย สารอาหารของพืชผักชนิดนั้น และนำเสนอข้อมูลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์
ความรู้ที่นักวิชาการจัดทำไว้ในหนังสือเพื่อประกอบการชมสวนสมุนไพรนี้ มีสิ่งที่น่าชมเชยอยู่ตรงที่ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เคารพในภูมิปัญญาดั้งเดิม และเชื่อมโยงอธิบายประโยชน์ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยกับงานวิจัยสมัยใหม่เข้าด้วยกัน หากคนไทยศึกษาและทำความเข้าใจความรู้ทั้ง ๒ แนวนี้ จะช่วยให้เราเลือกรับและปรับใช้สมุนไพรได้อย่างดียิ่ง
ผู้ที่ร่ำเรียนมาทางการแพทย์แผนไทยย่อมรู้จักรสยา ๙ รส เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับพืชผักพื้นบ้าน และส่งเสริมให้กินกันเป็นประจำน่าจะก่อประโยชน์ต่อสุขภาพมาก เช่น รสฝาด สรรพคุณยาไทยใช้แก้โรคท้องร่วง สมานแผล คุมธาตุ แสลงโรคหรืออาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบ คือ ไอ ท้องผูก โรคลม ทำให้กระหายน้ำ ตัวอย่างผักพื้นบ้านที่มีรสฝาด เช่น หัวปลี ยอดจิก ผักเม็ก ยอดกระโดน กล้วยดิบ และเมื่อพิจารณาจากความรู้สมัยใหม่พบว่า สารประกอบที่ทำให้เกิดรสฝาด เป็นสารจำพวกแทนนิน(tannin) ซึ่งช่วยกำจัดเชื้อโรคได้ จึงแก้อาการท้องเสียได้ ซึ่งตรงกับภูมิปัญยาดั้งเดิม
รสเปรี้ยว ตามสรรพคุณยาไทย แก้โรคเสมหะเหนียว ฟอกเลือดสตรี แก้ไอ กัดเสมหะ แก้กระหายน้ำ รสเปรี้ยวไม่เหมาะหรือแสลงโรคกับ อาการไข้ และท้องเสีย ถ้ารู้จักเลือกกินผักพื้นบ้านที่มีรสเปรี้ยวในยามที่มีอาการไอ และมีเสมหะ หรือในช่วงคอแห้งกระหายน้ำก็เท่ากับนำอาหารมาเป็นยา ตัวอย่างผักรสเปรี้ยว เช่น ผักเสี้ยน ผักหนาม ชะมวง แต้ว ส้มกบ ส้มป่อย กระเจี๊ยบแดง มะดัน มะเฟือง มะขาม มะกอก มะนาว มะกรูด มะอึก ฯลฯ สำหรับสารสำคัญในพืชผักกลุ่มนี้ ได้แก่กลุ่มกรดอินทรีย์ต่างๆ เช่น วิตามินซี กรดผลไม้ หรือกรดซิตริก(citric )
รสเผ็ดร้อน ตามสรรพคุณยาไทย แก้โรคลม บำรุงธาตุไฟ แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่น ขับลม ขับเหงื่อ รสร้อนๆ นี้ ทางการแพทย์แผนไทยไม่ให้ผู้ป่วยไข้พิษ และมีอาการตาเจ็บรับประทาน เพราะแสลงโรค ตัวอย่างผักรสเผ็ดร้อนคนไทยรู้จักดี เพราะอาหารไทยจำนวนมากมีรสเผ็ดร้อน เช่น พริก พริกไทย ดีปลี กะเพราะ โหระพา แมงลัก กระเทียม ขมิ้น ขิง ข่า กระชาย ชะพลู พลูคาว ผักแพว ผักแขยง ผักคราด และสะระแหน่ เป็นต้น พืชผักรสเผ็ดร้อนมีการศึกษาวิจัยใหม่ๆ มากมาย และเป็นกลุ่มสมุนไพรที่มีศักยภาพสูง เช่น พริก ขมิ้น กระเทียม ในการศึกษาสารสำคัญ พืชผักรสเผ็ดร้อนมักจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่หลายชนิด มีฤทธิ์ช่วยขับลม และยับยั้งเชื้อโรคต่างๆ ได้
รสยาที่เหลือ คือ รสหวาน รสขม รสเค็ม รสมัน รสเมาเบื่อ รสหอมเย็น ต่างก็มีพืชผักพื้นบ้านที่ให้รสได้ครบทุกรส เช่น รสหวาน ผักหวานป่าผักหวานบ้าน ผักเหมียง ดอกแค แตง บวบ รสขม สะเดา ฝักเพกา กุ่ม มะระขี้นก ดอกขี้เหล็ก ใบยอ ผักโขม รสเค็ม ใบกระชาย ใบหอมแดง และเกลือปรุงรสอาหาร รสมัน ลูกเนียง สะตอ บัวบก ขจร ถั่วพู ฟักทอง ผักกระเฉด กระถิน รากบัวหลวง รสเมาเบื่อ ชุมเห็ดเทศ รสหอมเย็น เกษรดอกไม้ต่างๆ
อาจารย์ทางเภสัชศาสตร์ได้สรุปศักยภาพของผักพื้นบ้านที่ผสมผสานหลักทฤษฎีแผนไทยและสารสำคัญต่างๆ ไว้ว่า หากคนไทยเลือกกินอาหารไทยที่ปรุงหรือมีผักพื้นบ้านเป็นประจำ โดยหมุนเวียนเลือกกินอาหารที่มีรสอย่างหลากหลายเลียนแบบรสยา น่าจะช่วยให้ร่างกายมีความสมดุล ช่วยให้แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ถ้ามองในแง่สารต่างๆ ที่อยู่ในพืชผัก พบว่าสารสำคัญตามธรรมชาติมีอยูมากมาย เช่น flavonoids, limonoids carotenoids, phenolic acids และสารอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีรายงานการวิจัยว่ามีส่วนช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
สารอาหารที่อยู่ในผักพื้นบ้านนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย เช่น วิตามินต่างๆ และเกลือแร่หลายชนิด เช่น แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส เหล็ก และที่สำคัญคือ ผักเหล่านี้มีใยอาหาร ทั้งชนิดละลายน้ำและชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งใยอาหารทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยลดไขมันในเลือด และช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก เป็นการลดสารพิษในร่างกายด้วย
หนังสือคุณค่าผักพื้นบ้าน เพื่อสุขภาพของคนไทย ของคณะเภสัชฯ มหาวิทยาลัยมหิดลเล่มนี้ ยังได้แนะนำผักพื้นบ้านไว้ ๖๑ ชนิด ขอแนะนำ ผักเชียงดา เป็นผักที่คนทางเหนือนิยมกินกันมาก นำมากินสดๆ หรือทำแกงกับปลาแห้ง หรือใช้เป็นส่วนประกอบในแกงแค ยาโบราณผสมใบผักเชียงดาในตำรายาแก้ไข้ ยอดอ่อนของผักเชียงดา มีเบต้าแคโรทีนสูง ๑๕,๙๐๕ ไมโครกรัมต่อ ๑๐๐ กรัม และมีปริมาณวิตามินอีสูง
ปัจจุบันบริษัทของญี่ปุ่นสามารถสกัดสารสำคัญจากผักเชียงดาได้ ซึ่งมีการวิจัยพบว่าสารสกัดหยาบของผักเชียงดา ลดการดูดซึมของกลูโคสในทางเดินอาหารที่ตัดแยกจากสัตว์ทดลอง และสามารถลดน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ขณะนี้ได้วิจัยจนกระทั่งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และนำไปจดสิทธิบัตรแล้วด้วย
ในรูปเชียงดาแห้งแบบชาชง

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550

กระเทียม แก้เหน็บชาและโรคลำไส้


หมอหลวงถวายการรักษา พระพันปีหรือเสด็จแม่ของพระราชาด้วยความรอบครอบ เนื้อหาจากละครดังของเกาหลีถ่ายทอดวิชาชีพและจรรยาแพทย์ให้ผู้ชมได้เรียนรู้อย่างยิ่ง แม้เป็นหมอสมุนไพรหรือคนไทยบางคนยังเรียกว่าหมอแผนโบราณ แต่คุณธรรมในการรักษาน่ายกย่อง
“แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ละครที่มีผู้กล่าวถึงในหลายแง่มุมไปมากแล้ว แต่เราขอสนทนาภาษายาสมุนไพรกับละครดังเรื่องนี้สักครั้ง ยกเนื้อหาที่เพิ่งออกอากาศไปในช่วงสุดสัปดาห์วันตรุษจีนพอดี ท่านที่ไม่ได้ชมขอย่นย่อเนื้อเรื่องสำคัญดังนี้
พระพันปีล้มป่วยมานาน คณะหมอหลวงถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ดีนัก ยิ่งพระพันปีทรงขัดเคือง(น้อยใจ)พระราชา ประกาศหยุดเสวยยา อาหารก็ไม่ทรงแตะ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมโรครุมเร้ามาก จนสับสนว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ แต่หมอหลวงท่านนี้เคยมีประวัติรักษาข้าหลวงคนหนึ่งผิดพลาดจนเสียชีวิต หมอหลวงจึงนำบทเรียนมาใช้อย่างพินิจพิเคราะห์ ศึกษาอาการอย่างรอบครอบจนสรุปได้ว่า โรคของพระพันปี มีทั้งโรคข้อกำเริบ โรคกระเพาะลำไส้ไม่ปกติ และมาถึงบางอ้อ เพราะการวินิจฉัยโรคพบว่า ทรงป่วยด้วยโรคเหน็บชาด้วย เพราะเริ่มมีอาการขาอ่อนแรง
หมอหลวงยังว่า โรคเหน็บชานี้ระยะแรกไม่แสดงอาการ แต่พอแสดงอาการก็จะทรุดหนัก การรักษาพระพันปีทำได้ยากนัก เพราะมีหลายโรคซ้อนทับและยิ่งหนักขึ้น เนื่องจากพระพันปียอมเสวยอาหารไม่ค่อยได้และไม่ยอมเสวยยาสมุนไพรใดๆ
เรื่องราวมาคลี่คลายเพราะ นางเอกเจ้าปัญญา ที่สามารถพลิกแพลงนำอาหารและสรรพคุณสมุนไพรใส่ลงในเม็ดลูกกลอน(ขนาดโต) ซึ่งนางเอกเกือบต้องอาญา เพราะดันไปปรุงอาหารสมุนไพรเม็ดโตๆ ด้วยอาหารที่พระพันปีรังเกียจยิ่งนัก คือพระองค์ไม่ชอบกระเทียม
แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงอาหารสมุนไพรซึ่งเป็นไฮไลท์ ขอกล่าวถึงบทละครตอนนี้ที่น่าชมเชย และวงการยาสมุนไพรของเราน่าจะเรียนรู้มากๆ คือ ซอจังกึม ผู้ชาญฉลาดทำการศึกษาวิจัยจนพบต้นเหตุของโรคเหน็บชา นางค้นรายการอาหารย้อนหลังที่ปรุงให้พระพันปีเสวย และยังค้นรายการสั่งวัตถุดิบที่ส่งมาโรงครัวเพื่อทำอาหาร แล้วนางก็ทำการด้วยภาษาสมัยที่เรียกว่า “จัดการความรู้” ซึ่งสามารถนำไปบอกอาจารย์หมอได้ว่า โรคของพระพันปีเกิดจากการกินอาหารซ้ำๆ จนทำให้เกิดโรค ผู้ชมและผู้อ่านลองสำรวจตัวเองดูว่ากินอาหารซ้ำๆ อยู่หรือไม่ ?
คราวนี้ก็มาถึงสุดยอดสมุนไพรในครัว กระเทียม ที่หลายคนบ่นว่า กลิ่นเหลือหลาย แต่ก็ยังฝืนกินเพราะสรรพคุณเลิศล้ำ ในละครเกาหลีดำเนินเรื่องให้เรารู้ว่า การแก้กลิ่นกระเทียม ทำโดยเอากระเทียมปอกเปลือกแล้วไปนึ่งกับใบชาเขียว เพื่อดูดกลิ่นให้สิ้นซาก ข้อเท็จจริงนี้ยังไม่ได้พิสูจน์นอกจอทีวี ท่านใดมีประสบการณ์อาจบอกต่อกันมาบ้างก็จะดี แต่วิธีของไทยๆ มักจะนำกระเทียมสดไปแช่น้ำผึ้ง เป็นการลดกลิ่นฉุนๆ ของกระเทียม บางแห่งใช้วิธีกระเทียมแช่กับน้ำส้มสายชู
สำหรับสรรพคุณกระเทียม หลายท่านอาจสงสัยว่ากระเทียมแก้เหน็บชาจริงหรือ ความนี้ต้องเล่าเนื้อเรื่องละครต่ออีกนิดว่า ลูกกลอนเม็ดโตๆ ที่ ซอจังกึมและหมอหลวงปรุงถวายนั้น นอกจากกระเทียมไร้กลิ่นเป็นส่วนสำคัญแล้ว ยังปรุงด้วยถั่วแดงและธัญพืชอีกหลายชนิด และปรุงด้วยฝีมือระดับแม่ครัวห้องเครื่องวังหลวง รสชาติจึงอร่อยมาก พระพันปีชอบเสวยเป็นอย่างยิ่ง
อุบายอันแยบยลนี้ ทำให้พระพันปีเสวยอาหาร(เม็ด)อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการเยียวยารักษาโรคที่สำคัญ เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอ แม้จะให้ยาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ประโยชน์ บางครั้งฤทธิ์ของยาจะทำให้ร่างกายทรุดได้ ผู้ป่วยจึงต้องกินอาหารให้ร่างกายแข็งแรงพอ ต่อจากนั้นก็ให้ยารักษาโรค ในปัจจุบันคนไข้กินอาหารไม่ได้ก็ยังมีเข็มและสายยางส่งน้ำเกลือให้ร่ายกายฟื้นตัวได้ พอพระพันปีเสวยลูกกลอนเม็ดโตไปสักพักร่างกายดีขึ้น จนความแตกว่ามีกระเทียมที่ไม่ทรงโปรดอยู่ด้วย แต่นางเอกก็ลอดพ้นความผิดจนได้
ในละครบอกเพียงว่ากระเทียมดีต่อโรคเหน็บชา และโรคลำไส้ที่พระพันปีเป็นอยู่ แต่มิได้ขยายความ ผู้อ่านก็คงสงสัย ทางมูลนิธิสุขภาพไทยเองก็สงสัยขณะชมละคร แต่ก็อาศัยแรงบันดาลการศึกษาค้นหาจากจังกึม เมื่อไปค้นจุลสาร กระเทียม ยอดสมุนไพรในครัวเรือน ซึ่งเป็นพอกเก็ตบุคส์ ของมูลนิธิฯ แม้ว่าจะพิมพ์เผยแพร่มานาน แต่เนื้อหาสาระยังเป็นตำราให้ใช้ได้ดี
ข้อมูลในส่วนที่บอกว่า กระทียมช่วยบำรุงร่างกาย มีการศึกษาพบว่าในกระเทียมมีสารชักนำไวตามินบีหนึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้นถึงเท่าตัว และถ้ารวมกับสารชนิดหนึ่งในกระเทียม คือ สารอัลลิลไทอะมิน จะช่วยทำให้ไวตามินบีหนึ่งออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นถึง ๒๐ เท่า
ผู้อ่านคงพอรู้ว่าโรคเหน็บชาเกิดจากการขาดไวตามินบีหนึ่ง แล้วถั่วแดงและธัญพืชต่างๆ เช่นข้าวกล้อง มีไวตามินบีหนึ่งอยู่สูง ลูกกลอนเม็ดโตๆ จากละครก็มีเหตุผลรับฟังได้ดีในการใช้กระเทียมเป็นอาหารสมุนไพร นอกจากนี้โรคกระเพาะลำไส้ในละคร กระเทียมก็สรรพคุณตามนั้นจริงๆ เช่น ที่ประเทศอินเดีย เคยทดลองกับคนไข้ที่ไม่สบายเพราะอาการธาตุพิการ (อึดอัดในท้อง คลื่นไส้ รู้สึกแสบกระเพาะ) พบว่าเมื่อกินกระเทียมแล้วอาการเหล่านี้ดีขึ้นจนหายไป
ยังมีรายงานจากญี่ปุ่นและเกาหลีว่า สารในกระเทียมสามารถควบคุมและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งไม่รู้ผู้เขียนบทละครทำการศึกษาก่อนมาทำละครหรือไม่ อย่างไรก็ตามหลายท่านคงสงสัยว่า กระเทียมรสเผ็ด บางครั้งกินเข้าไปยังแสบท้อง อย่างนี้จะแก้โรคกระเพาะได้อย่างไร ข้อควรรู้เพื่อให้ใช้ยาอย่างถูกต้อง คือ ควรกินกระทียมพร้อมมื้ออาหาร บางรายกินอาหารไปครึ่งหนึ่งก่อน จึงกินกระเทียมตามไป และสรรพคุณของกระเทียมจะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อกระเทียมสดได้ถูกสับซอยให้ละเอียดแล้ว ขนาดที่กินในหนึ่งมื้อ ประมาณครึ่งช้อนชา(สับแล้ว) วันหนึ่งก็ไม่เกินหนึ่งช้อนชาครึ่ง

ใบบัวบก...สารต้านมะเร็งสูง



พบสารต้านมะเร็งในใบบัวบก แต่ขาดงบวิจัยต่อยอด หากมีงบประมาณ คาดอีก 6 เดือน จะรู้รูปแบบและปริมาณการใช้ นอกจากนั้น ยังมีแพทย์สนใจวิจัยทางคลินิกทดสอบประสิทธิภาพ แนะประชาชนรับประทานใบบัวบกในรูปของอาหาร เพิ่มภูมิต้านทานโรค แต่ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับตับต้องระวัง
รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)กล่าวว่า ได้ร่วมกับเภสัชกรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิจัยบัวบกเพื่อหาสารต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ พิสูจน์กลไกการออกฤทธิ์ โดยนำใบบัวบกมาตำคั้นเอาน้ำ สกัดสารสำคัญนำไปป้อนหนูที่ถูกกระตุ้นจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ พบว่า เซลล์ที่ผิดปกติลดขนาดลง เมื่อนำสารสกัดจากใบบัวบกไปทำปฏิกิริยากับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง พบว่า สารสำคัญดังกล่าวฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตาย รศ.ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า บัวบกถือว่าเป็นพืชที่สุดยอด หลังจากค้นพบสารสำคัญที่ฆ่าเซลล์มะเร็งแล้ว ได้เสนอโครงการวิจัยต่อยอดเพื่อหารูปแบบที่จะใช้ประโยชน์ศึกษาว่า กินอย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ จึงจะได้ประโยชน์ จึงได้เสนอโครงการไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใช้ประมาณ 700,000 บาท แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งหากมีหน่วยงานใด หรือภาคเอกชนต้องการสนับสนุนโครงการวิจัยนี้ ตนและทีมเภสัชกรพร้อมจะดำเนินการต่อ นอกจากนั้น ยังมีแพทย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมที่จะวิจัยทางคลินิก เพื่อทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดจากใบบัวบก โดยคนไข้มะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นสุดท้ายพร้อมจะร่วมโครงการ แต่ก็ต้องชะลอโครงการไปก่อน เพราะไม่มีงบประมาณ ขณะนี้ตนกับทีมงาน พยายามหาแหล่งทุนวิจัยอยู่ เชื่อมั่นว่า บัวบกจะเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ “ถ้ามีงบประมาณ ต้องการจะวิจัยต่อถึงระดับคลินิก หารูปแบบการรับประทาน ทดสอบประสิทธิภาพในคน หลังจากเห็นผลชัดเจนในหนูทดลองแล้ว พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ พบว่า สารต้านมะเร็งในใบบัวบกมีมากกว่าตะไคร้ และสมุนไพรตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หญ้าปักกิ่งทองพันชั่งและอีกชนิดแต่ขอปิดไว้ก่อน เพราะเท่าที่ค้นข้อมูลดูยังไม่มีใครวิจัย” รศ.ดร.อุษณีย์ กล่าว และว่า หากมีงบประมาณคาดว่า วิจัยอีก 6 เดือนจะได้สูตรที่เหมาะสม อีก 1 ปี จะได้ปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทาน รศ.ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นประชาชนสามารถนำใบบัวบกมารับประทานเพิ่มภูมิต้านทานโรค เพิ่มเม็ดเลือดขาวให้กับร่างกายได้ เช่น ทำน้ำใบบัวบก นำมาจิ้มน้ำพริก หรือประกอบอาหารต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับตับ ควรระมัดระวังในการรับประทานใบบัวบก เพราะหากได้รับสารอัลฟ่าท็อกซิน จะทำให้ตับด้อยประสิทธิภาพในการทำลายสารอัลฟ่าท็อกซิน เกิดภาวะตับอักเสบ

คึ่นช่าย สมุนไพรลดความดัน


ถ้าใช้มุมมองแบบระบาดวิทยา คือดูความชุกของโรคว่าโรคใดเกิดขึ้นมาในเวลานี้ คำตอบที่ได้ในปัจจุบันก็คือ โรคความดันโลหิต ซึ่งกำลังกัดกร่อนสุขภาพคนไทยอย่างยิ่ง ประมาณกันว่าประชากรไทยอายุระหว่าง 30-60 ปี เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ร้อยละ 4-7 ส่วนคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปความดันสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10- 15
โรคความดันโลหิตสูงโดยตัวของเขาเองดูเหมือนว่าไม่เป็นอันตราย โลหิตจะสูงก็สูงไป แต่แท้จริงแล้วเมื่อเจ็บป่วยเพราะความดันโลหิตสูงจะพาชีวิตของเราป่วยไข้ได้อีกหลายโรค เนื่องจากโรคนี้ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจวาย และเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของโรคอัมพาต นอกจากนี้ยังพาเราให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นต้น
การดูแลสุขภาพของตนเองให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น ผู้ป่วยโรคนี้ต้องทำการลดน้ำหนัก บริโภคอาหารที่มีปริมาณเกลือลดลง รับประทานผักและผลไม้ให้มาก เนื่องจากผักและผลไม้จะมีโปแตสเซียมจำนวนมากซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตได้ และควรงดการดื่มสุรา ขณะเดียวกันหากอยู่ระหว่างรับประทานยาก็ควรทำตามที่แพทย์สั่ง
ที่สำคัญคือต้องมีการตรวจวัดความดันว่าสามารถคุมความดันให้ลดลงจนอยู่ในระดับปกติได้หรือยัง ถ้ายังก็จะต้องดูแลสุขภาพใกล้ชิด มิให้ภัยเงียบมาจู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว สำหรับท่านที่ต้องการใช้สมุนไพรเพื่อช่วยคุมความดันให้อยู่ในระดับปกตินั้น สมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยสูงและมีการใช้ลดความดันกันอย่างแพร่หลายคือ “คึ่นช่าย”
คึ่นช่าย หรือภาษาอังกฤษเรียกCelery หรือ Smallage มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Apium graveolens Linn. อยู่ในวงศ์ UMBELLIFERAE เป็นพืชพื้นเมืองของยุโรปตอนใต้ ชาวกรีกโบราณมีการทำไวน์คึ่นช่ายเพื่อให้นักกีฬากิน และใช้เป็นยาสมุนไพรมาอย่างยาวนาน ภายหลังคึ่นช่ายขยายตัวมีผู้นำไปปลูกทั่วไปในยุโรป และข้ามไปฝั่งอเมริกา ต่อมาถึงทวีปเอเชียบ้านเราด้วย
คึ่นช่ายเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินเค็ม นิยมใช้ลำต้นและใบมาปรุงอาหาร และแต่งกลิ่นอาหารบางชนิด โดยเฉพาะใช้ดับคาวปลา และเนื้อ ปัจจุบันคึ่นช่ายจึงเป็นผักที่นิยมรับประทานอย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมทั้งมีประสบการณ์การใช้เป็นยามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะใช้เป็นสมุนไพรลดความดัน
ชาวเอเชียรู้จักใช้คึ่นช่ายเป็นยาลดความดันมาประมาณ 2000 ปี ชาวจีน ชาวเวียดนามแนะนำให้รับประทานคึ่นช่ายวันละ 4 ต้น เพื่อรักษาความดันให้เป็นปกติ แพทย์อายุรเวทในอินเดียจะสั่งจ่ายเมล็ดคึ่นช่ายเพื่อขับปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่บวมน้ำ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับการรักษาหวัด หวัดใหญ่ อาจเนื่องมาจากคึ่นช่ายเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงมากชนิดหนึ่ง ในผักคึ่นช่ายมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ด้วย จึงมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหาร และมีการนำมาใช้เป็นยาแก้ข้ออักเสบ โรคเก๊า สรรพคุณทางยาของคึ่นช่ายเหล่านี้ชาวยุโรปรู้จักกันดี ถ้าไปค้นในประวัติศาสตร์โบราณของยุโรปก็จะพบว่ามีการใช้สมุนไพรชนิดนี้อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงมีการแนะนำให้ใช้คึ่นช่ายเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ โรคอ้วน โรคประสาท มะเร็งหลายชนิด ใช้ขับประจำเดือน และกินแล้วทำให้เกิดการแท้งลูกได้ รวมทั้งยังเชื่อว่าคึ่นช่ายยังมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกำหนัดและบำรุงประสาทอีกด้วย
คึ่นช่ายคงแพร่ข้ามาเมืองไทยนานแล้วจึงพบว่ามีตำรายาไทยได้ระบุถึงสรรพคุณของคึ่นช่าย ว่า ราก แก้จุกเสียด ขับน้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ ต้น ขับระดู แก้ความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ แก้อาการเมา เหล้า แก้อาเจียน รับประทานมากทำให้เป็นหมันได้ ใบ แก้โรคความดันโลหิตสูง แก้อาการตกเลือด แก้โรคลมพิษ เมล็ด ขับลม ขับระดู ขับปัสสาวะ แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นยาบำรุง บำรุงหัวใจ ทั้งต้น ลดความดันโลหิต ขับระดู เป็นต้น ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของคึ่นช่ายพบว่า คึ่นช่ายมีฤทธิ์สนับสนุนการใช้ที่มีมาแต่โบราณ คือมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม คุมกำเนิด ลดจำนวนอสุจิ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคลอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ยับยั้งเนื้องอก ต้านการอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบบีบตัว มีฤทธิ์กล่อมประสาท เป็นต้น
การใช้คึ่นช่ายเพื่อลดความดันนั้นปรากฏชัดในปีค.ศ.1992 นาย Minh Le บิดาของนักศึกษามหาวิทยาลัยแพทย์ชิคาโก ถูกวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และแพทย์ได้สั่งยาแผนปัจจุบันเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง แต่นาย Le ไม่ยอมกินยาแผนปัจจุบัน กลับไปกินคึ่นช่ายวันละ ¼ ปอนด์(1 ปอนด์หนัก 454 กรัม)หรือใช้คึ่นช่ายประมาณ 4 ก้านทุกวัน ไม่นานนักพบว่าความดันลดลงจาก 158/96 เหลือ 118/82 ต่อมาลูกชายของเขา Quang Le และนักเภสัชวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ชิคาโก ดร.Willium Elliot ได้แยกสารชื่อว่า 3-n-butyl phathalide และเมื่อฉีดเข้าไปในหนูขนาดเท่ากับคึ่นช่าย 4 ก้าน พบว่าความดันโลหิตสูงลดลงร้อยละ 15 และโคเลสเตอรอลลดลงร้อยละ 7
แม้จะไม่มีการศึกษาวิจัยการใช้คึ่นช่ายเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูงในคนอย่างชัดเจน แต่คึ่นช่ายเป็นผักที่เรารับประทานกันอยู่แล้ว ทั้งยังมีประโยชน์มากมายกล่าวคือมีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งสามารถต้านอนุมูลอิสระ และช่วยทำให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง เป็นผักที่มีแคลเซียม และเบต้า-แคโรทีนพอสมควร ทั้งยังมีสารต้านมะเร็ง ฟธาไลเดส(phthalides) อีกด้วย

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ผลไม้ที่สามารถ ล้างสารพิษออกจากร่างกาย

การรับประทานอาหารบางครั้งก็มีทั้งประโยชน์และโทษ แล้วถ้าเกิดร่างกายได้รับสารพิษ ควรจะทำอย่างไร วันนี้เกร็ดความรู้มีผลไม้ที่สามารถล้างสารพิษออกจากร่างกายมาฝากกัน... แอปเปิ้ล : เป็นผลไม้ที่ดีที่สุดสำหรับการขจัดของเสียออกจากร่างกาย สารเปกตินในแอปเปิ้ลจะช่วยนำสารพิษไปกำจัดทิ้ง ทั้งยังป้องกันไม่ให้โปรตีนในลำไส้เกิดการบูดเน่า แถมยังมีเส้นใยมากที่จะทำหน้าที่ทำความสะอาดลำไส้ช่วยให้ตับและระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินและเกลือแร่ และยังเหมาะกับคนที่กำลังลดน้ำหนักอีกด้วย องุ่น : เป็นสารฟอกล้างสำหรับผิวหนัง, ตับ, ลำไส้และไตโดยเฉพาะ เนื่องจากองุ่นมีคุณสมบัติรักษาน้ำมูกที่จะออกมาจากเยื่อเมือกต่างๆ ในร่างกาย องุ่นยังให้พลังงานสูงและนำไปใช้ได้ง่าย เกลือแร่อุดม ดังนั้นจึงช่วยบำรุงเลือดและซ่อมสร้างเซลล์ในร่างกาย สับปะรด : มีเอนไซม์โปรเมลินสูง เอนไซม์ตัวนี้จะช่วยการทำงานของกรดไฮโดรคลอริกในกระเพาะ และช่วยทำให้ของเสียที่เป็นโปรตีนแตกตัวได้เร็วขึ้น แถมยังช่วยรักษาอาการอักเสบในทางเดินอาหาร ช่วยในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่สึกหรอ ช่วยการทำงานของต่อมไร้ท่อและช่วยกำจัดน้ำมูก มะละกอ มะม่วง : มีลักษณะที่คล้ายกันแต่มะม่วงจะมีสารสำคัญน้อยกว่ามะละกอเล็กน้อย ผลไม้ทั้งสองชนิดมีเอนไซม์ชื่อปาเปน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับน้ำย่อยเปปซินในกระเพาะอาหาร ที่จะช่วยทำให้ของเสียที่เป็นโปรตีนแตกตัวได้เร็วเช่นเดียวกับโปรเมลิน ทั้งมะละกอและมะม่วงดีสำหรับทำความสะอาดลำไส้และช่วยย่อยอาหาร แตงโม : จะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ช่วยฟอกล้างร่างกายได้เป็นอย่างดี ใช้รักษาแผลในกระเพาะ ลดความดันเลือดสูง ทำให้สบายท้อง น้ำคั้นจากเปลือกของแตงโมและเมล็ด หากดื่มก่อนกินเนื้อแตงโมในมื้ออาหารสักครึ่งชั่วโมง จะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเปลือกของแตงโมอุดมด้วยคลอโรฟิลล์และเมล็ดอุดมด้วยวิตามิน ถ้ารู้สึกว่าได้รับสารพิษ ลองหันมาทานผลไม้ที่แนะนำกันดูได้