วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ใบบัวบก...สารต้านมะเร็งสูง



พบสารต้านมะเร็งในใบบัวบก แต่ขาดงบวิจัยต่อยอด หากมีงบประมาณ คาดอีก 6 เดือน จะรู้รูปแบบและปริมาณการใช้ นอกจากนั้น ยังมีแพทย์สนใจวิจัยทางคลินิกทดสอบประสิทธิภาพ แนะประชาชนรับประทานใบบัวบกในรูปของอาหาร เพิ่มภูมิต้านทานโรค แต่ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับตับต้องระวัง
รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)กล่าวว่า ได้ร่วมกับเภสัชกรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิจัยบัวบกเพื่อหาสารต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ พิสูจน์กลไกการออกฤทธิ์ โดยนำใบบัวบกมาตำคั้นเอาน้ำ สกัดสารสำคัญนำไปป้อนหนูที่ถูกกระตุ้นจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ พบว่า เซลล์ที่ผิดปกติลดขนาดลง เมื่อนำสารสกัดจากใบบัวบกไปทำปฏิกิริยากับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง พบว่า สารสำคัญดังกล่าวฆ่าเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตาย รศ.ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า บัวบกถือว่าเป็นพืชที่สุดยอด หลังจากค้นพบสารสำคัญที่ฆ่าเซลล์มะเร็งแล้ว ได้เสนอโครงการวิจัยต่อยอดเพื่อหารูปแบบที่จะใช้ประโยชน์ศึกษาว่า กินอย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ จึงจะได้ประโยชน์ จึงได้เสนอโครงการไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใช้ประมาณ 700,000 บาท แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งหากมีหน่วยงานใด หรือภาคเอกชนต้องการสนับสนุนโครงการวิจัยนี้ ตนและทีมเภสัชกรพร้อมจะดำเนินการต่อ นอกจากนั้น ยังมีแพทย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมที่จะวิจัยทางคลินิก เพื่อทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดจากใบบัวบก โดยคนไข้มะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นสุดท้ายพร้อมจะร่วมโครงการ แต่ก็ต้องชะลอโครงการไปก่อน เพราะไม่มีงบประมาณ ขณะนี้ตนกับทีมงาน พยายามหาแหล่งทุนวิจัยอยู่ เชื่อมั่นว่า บัวบกจะเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ “ถ้ามีงบประมาณ ต้องการจะวิจัยต่อถึงระดับคลินิก หารูปแบบการรับประทาน ทดสอบประสิทธิภาพในคน หลังจากเห็นผลชัดเจนในหนูทดลองแล้ว พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ พบว่า สารต้านมะเร็งในใบบัวบกมีมากกว่าตะไคร้ และสมุนไพรตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หญ้าปักกิ่งทองพันชั่งและอีกชนิดแต่ขอปิดไว้ก่อน เพราะเท่าที่ค้นข้อมูลดูยังไม่มีใครวิจัย” รศ.ดร.อุษณีย์ กล่าว และว่า หากมีงบประมาณคาดว่า วิจัยอีก 6 เดือนจะได้สูตรที่เหมาะสม อีก 1 ปี จะได้ปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทาน รศ.ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นประชาชนสามารถนำใบบัวบกมารับประทานเพิ่มภูมิต้านทานโรค เพิ่มเม็ดเลือดขาวให้กับร่างกายได้ เช่น ทำน้ำใบบัวบก นำมาจิ้มน้ำพริก หรือประกอบอาหารต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับตับ ควรระมัดระวังในการรับประทานใบบัวบก เพราะหากได้รับสารอัลฟ่าท็อกซิน จะทำให้ตับด้อยประสิทธิภาพในการทำลายสารอัลฟ่าท็อกซิน เกิดภาวะตับอักเสบ

ไม่มีความคิดเห็น: