วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550

กระเทียม แก้เหน็บชาและโรคลำไส้


หมอหลวงถวายการรักษา พระพันปีหรือเสด็จแม่ของพระราชาด้วยความรอบครอบ เนื้อหาจากละครดังของเกาหลีถ่ายทอดวิชาชีพและจรรยาแพทย์ให้ผู้ชมได้เรียนรู้อย่างยิ่ง แม้เป็นหมอสมุนไพรหรือคนไทยบางคนยังเรียกว่าหมอแผนโบราณ แต่คุณธรรมในการรักษาน่ายกย่อง
“แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ละครที่มีผู้กล่าวถึงในหลายแง่มุมไปมากแล้ว แต่เราขอสนทนาภาษายาสมุนไพรกับละครดังเรื่องนี้สักครั้ง ยกเนื้อหาที่เพิ่งออกอากาศไปในช่วงสุดสัปดาห์วันตรุษจีนพอดี ท่านที่ไม่ได้ชมขอย่นย่อเนื้อเรื่องสำคัญดังนี้
พระพันปีล้มป่วยมานาน คณะหมอหลวงถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ดีนัก ยิ่งพระพันปีทรงขัดเคือง(น้อยใจ)พระราชา ประกาศหยุดเสวยยา อาหารก็ไม่ทรงแตะ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมโรครุมเร้ามาก จนสับสนว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ แต่หมอหลวงท่านนี้เคยมีประวัติรักษาข้าหลวงคนหนึ่งผิดพลาดจนเสียชีวิต หมอหลวงจึงนำบทเรียนมาใช้อย่างพินิจพิเคราะห์ ศึกษาอาการอย่างรอบครอบจนสรุปได้ว่า โรคของพระพันปี มีทั้งโรคข้อกำเริบ โรคกระเพาะลำไส้ไม่ปกติ และมาถึงบางอ้อ เพราะการวินิจฉัยโรคพบว่า ทรงป่วยด้วยโรคเหน็บชาด้วย เพราะเริ่มมีอาการขาอ่อนแรง
หมอหลวงยังว่า โรคเหน็บชานี้ระยะแรกไม่แสดงอาการ แต่พอแสดงอาการก็จะทรุดหนัก การรักษาพระพันปีทำได้ยากนัก เพราะมีหลายโรคซ้อนทับและยิ่งหนักขึ้น เนื่องจากพระพันปียอมเสวยอาหารไม่ค่อยได้และไม่ยอมเสวยยาสมุนไพรใดๆ
เรื่องราวมาคลี่คลายเพราะ นางเอกเจ้าปัญญา ที่สามารถพลิกแพลงนำอาหารและสรรพคุณสมุนไพรใส่ลงในเม็ดลูกกลอน(ขนาดโต) ซึ่งนางเอกเกือบต้องอาญา เพราะดันไปปรุงอาหารสมุนไพรเม็ดโตๆ ด้วยอาหารที่พระพันปีรังเกียจยิ่งนัก คือพระองค์ไม่ชอบกระเทียม
แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงอาหารสมุนไพรซึ่งเป็นไฮไลท์ ขอกล่าวถึงบทละครตอนนี้ที่น่าชมเชย และวงการยาสมุนไพรของเราน่าจะเรียนรู้มากๆ คือ ซอจังกึม ผู้ชาญฉลาดทำการศึกษาวิจัยจนพบต้นเหตุของโรคเหน็บชา นางค้นรายการอาหารย้อนหลังที่ปรุงให้พระพันปีเสวย และยังค้นรายการสั่งวัตถุดิบที่ส่งมาโรงครัวเพื่อทำอาหาร แล้วนางก็ทำการด้วยภาษาสมัยที่เรียกว่า “จัดการความรู้” ซึ่งสามารถนำไปบอกอาจารย์หมอได้ว่า โรคของพระพันปีเกิดจากการกินอาหารซ้ำๆ จนทำให้เกิดโรค ผู้ชมและผู้อ่านลองสำรวจตัวเองดูว่ากินอาหารซ้ำๆ อยู่หรือไม่ ?
คราวนี้ก็มาถึงสุดยอดสมุนไพรในครัว กระเทียม ที่หลายคนบ่นว่า กลิ่นเหลือหลาย แต่ก็ยังฝืนกินเพราะสรรพคุณเลิศล้ำ ในละครเกาหลีดำเนินเรื่องให้เรารู้ว่า การแก้กลิ่นกระเทียม ทำโดยเอากระเทียมปอกเปลือกแล้วไปนึ่งกับใบชาเขียว เพื่อดูดกลิ่นให้สิ้นซาก ข้อเท็จจริงนี้ยังไม่ได้พิสูจน์นอกจอทีวี ท่านใดมีประสบการณ์อาจบอกต่อกันมาบ้างก็จะดี แต่วิธีของไทยๆ มักจะนำกระเทียมสดไปแช่น้ำผึ้ง เป็นการลดกลิ่นฉุนๆ ของกระเทียม บางแห่งใช้วิธีกระเทียมแช่กับน้ำส้มสายชู
สำหรับสรรพคุณกระเทียม หลายท่านอาจสงสัยว่ากระเทียมแก้เหน็บชาจริงหรือ ความนี้ต้องเล่าเนื้อเรื่องละครต่ออีกนิดว่า ลูกกลอนเม็ดโตๆ ที่ ซอจังกึมและหมอหลวงปรุงถวายนั้น นอกจากกระเทียมไร้กลิ่นเป็นส่วนสำคัญแล้ว ยังปรุงด้วยถั่วแดงและธัญพืชอีกหลายชนิด และปรุงด้วยฝีมือระดับแม่ครัวห้องเครื่องวังหลวง รสชาติจึงอร่อยมาก พระพันปีชอบเสวยเป็นอย่างยิ่ง
อุบายอันแยบยลนี้ ทำให้พระพันปีเสวยอาหาร(เม็ด)อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการเยียวยารักษาโรคที่สำคัญ เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอ แม้จะให้ยาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ประโยชน์ บางครั้งฤทธิ์ของยาจะทำให้ร่างกายทรุดได้ ผู้ป่วยจึงต้องกินอาหารให้ร่างกายแข็งแรงพอ ต่อจากนั้นก็ให้ยารักษาโรค ในปัจจุบันคนไข้กินอาหารไม่ได้ก็ยังมีเข็มและสายยางส่งน้ำเกลือให้ร่ายกายฟื้นตัวได้ พอพระพันปีเสวยลูกกลอนเม็ดโตไปสักพักร่างกายดีขึ้น จนความแตกว่ามีกระเทียมที่ไม่ทรงโปรดอยู่ด้วย แต่นางเอกก็ลอดพ้นความผิดจนได้
ในละครบอกเพียงว่ากระเทียมดีต่อโรคเหน็บชา และโรคลำไส้ที่พระพันปีเป็นอยู่ แต่มิได้ขยายความ ผู้อ่านก็คงสงสัย ทางมูลนิธิสุขภาพไทยเองก็สงสัยขณะชมละคร แต่ก็อาศัยแรงบันดาลการศึกษาค้นหาจากจังกึม เมื่อไปค้นจุลสาร กระเทียม ยอดสมุนไพรในครัวเรือน ซึ่งเป็นพอกเก็ตบุคส์ ของมูลนิธิฯ แม้ว่าจะพิมพ์เผยแพร่มานาน แต่เนื้อหาสาระยังเป็นตำราให้ใช้ได้ดี
ข้อมูลในส่วนที่บอกว่า กระทียมช่วยบำรุงร่างกาย มีการศึกษาพบว่าในกระเทียมมีสารชักนำไวตามินบีหนึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้นถึงเท่าตัว และถ้ารวมกับสารชนิดหนึ่งในกระเทียม คือ สารอัลลิลไทอะมิน จะช่วยทำให้ไวตามินบีหนึ่งออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นถึง ๒๐ เท่า
ผู้อ่านคงพอรู้ว่าโรคเหน็บชาเกิดจากการขาดไวตามินบีหนึ่ง แล้วถั่วแดงและธัญพืชต่างๆ เช่นข้าวกล้อง มีไวตามินบีหนึ่งอยู่สูง ลูกกลอนเม็ดโตๆ จากละครก็มีเหตุผลรับฟังได้ดีในการใช้กระเทียมเป็นอาหารสมุนไพร นอกจากนี้โรคกระเพาะลำไส้ในละคร กระเทียมก็สรรพคุณตามนั้นจริงๆ เช่น ที่ประเทศอินเดีย เคยทดลองกับคนไข้ที่ไม่สบายเพราะอาการธาตุพิการ (อึดอัดในท้อง คลื่นไส้ รู้สึกแสบกระเพาะ) พบว่าเมื่อกินกระเทียมแล้วอาการเหล่านี้ดีขึ้นจนหายไป
ยังมีรายงานจากญี่ปุ่นและเกาหลีว่า สารในกระเทียมสามารถควบคุมและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งไม่รู้ผู้เขียนบทละครทำการศึกษาก่อนมาทำละครหรือไม่ อย่างไรก็ตามหลายท่านคงสงสัยว่า กระเทียมรสเผ็ด บางครั้งกินเข้าไปยังแสบท้อง อย่างนี้จะแก้โรคกระเพาะได้อย่างไร ข้อควรรู้เพื่อให้ใช้ยาอย่างถูกต้อง คือ ควรกินกระทียมพร้อมมื้ออาหาร บางรายกินอาหารไปครึ่งหนึ่งก่อน จึงกินกระเทียมตามไป และสรรพคุณของกระเทียมจะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อกระเทียมสดได้ถูกสับซอยให้ละเอียดแล้ว ขนาดที่กินในหนึ่งมื้อ ประมาณครึ่งช้อนชา(สับแล้ว) วันหนึ่งก็ไม่เกินหนึ่งช้อนชาครึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: